27 พฤศจิกายน, 2550

"ปลดล็อกไอโฟน" ปลดเหมือนไม่ได้ปลด?

"ปลดล็อกไอโฟน" ปลดเหมือนไม่ได้ปลด?


โดย ผู้จัดการออนไลน์
23 พฤศจิกายน 2550 15:21 น.


บรรยากาศความดีใจหลังการซื้อไอโฟนสำเร็จของสาวกแอปเปิลชาวอเมริกัน ล่าสุด การจำหน่ายไอโฟนรุ่นปลดล็อกแล้วที่สามารถทำงานบนเครือข่ายอื่นได้อย่างเสรี กลับมีราคาจำหน่ายที่สูงลิ่ว บีบให้ผู้บริโภคยอมใช้ไอโฟนรุ่นล็อกที่มีความคุ้มค่ามากกว่า
เมื่อมีข่าวว่าดอยช์เทเลคอม (Deutsche Telekom) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเยอรมัน ตัดสินใจจำหน่ายไอโฟนโดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องสมัครสมาชิกบริการโทรศัพท์ของบริษัท ฟังดูเผินๆอาจทำให้หลายคนมองว่าเป็นข่าวดีที่ผู้บริโภคสามารถยิ้มรับอย่างเต็มปาก แต่ทันทีที่เห็นราคาจำหน่ายอาจต้องอ้าปากค้าง จนบางคนอาจจะเปลี่ยนใจยอมให้ล็อกไอโฟนแต่โดยดี การจำหน่ายไอโฟน (iPhone) โทรศัพท์มือถือเล่นอินเทอร์เน็ตดีไซน์เฉียบของแอปเปิลที่ผ่านมา จะต้องเกิดขึ้นบนสัญญาผูกขาดการให้บริการกับบริษัทเจ้าของเครือข่ายรายใดรายหนึ่งเท่านั้น เช่นในสหรัฐฯ ผู้บริโภคที่ต้องการใช้งานไอโฟนจะต้องเป็นสมาชิกบริการเครือข่ายไร้สายของเอทีแอนด์ที (AT&T) ทุกคน ผู้ปลดล็อกเครื่องให้สามารถใช้บริการเครือข่ายอื่นจะมีความเสี่ยงเครื่องใช้งานไม่ได้และแอปเปิลระบุว่าเครื่องที่เสียหายเพราะการปลดล็อกเครือข่ายจะไม่อยู่ในประกัน การเปิดศักราชปลดล็อกเครือข่ายของดอยช์เทเลคอมถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทโทรคมนาคมเปิดเสรีให้ลูกค้าไอโฟนสามารถใช้บริการเครือข่ายข้อมูลของบริษัทอื่นได้ รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า นี่คือผลจากคำสั่งห้ามขายไอโฟนในเยอรมันที่ศาลเมืองฮัมเบิร์กเหนือตัดสินไว้ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นคือการผูกขาดการค้า ผิดกฎหมายการค้ายุติธรรมของทั้งเยอรมันและยุโรป ดอยช์เทเลคอมจึงตัดสินใจจำหน่ายไอโฟนแบบปลดล็อก แต่ราคาจำหน่ายนั้นบีบหัวใจผู้บริโภค เนื่องจากมีราคาสูงมากจนผู้บริโภคอาจเปลี่ยนใจแล้วบอกว่า "เอาแบบล็อกก็ได้" ปลดเหมือนไม่ปลด ราคาจำหน่ายไอโฟนแบบปลดล็อกคือ 999 ยูโร เทียบเป็น 1,480 ดอลลาร์ หรือประมาณ 47,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 32 บาท) เทียบกับราคา 399 ยูโร สำหรับการจำหน่ายแบบต้องเป็นสมาชิกบริการทีโมบายล์ (T-Mobile) ในเครือดอยช์เทเลคอม นักวิเคราะห์นั้นมองว่าราคาไอโฟน 999 ยูโรที่ดอยช์เทเลคอมตั้งถือว่าสูงมาก ราคาที่สูงจะทำให้ไอโฟนมีจุดยืนเป็นสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย โดยเชื่อว่าราคาไอโฟนรุ่นปลดล็อกจะทำให้ผู้บริโภคเฮไปเข้าคิวซื้อไอโฟนในร้านค้าของดอยช์เทเลคอม เช่นเดียวกับที่เอทีแอนด์ที คู่ค้าแอปเปิลที่ผูกขาดการจำหน่ายไอโฟนรายเดียวในสหรัฐเคยทำได้มาก่อน ขายชั่วคราว คำสั่งของศาลเมืองฮัมเบิร์กเหนือมีต้นเหตุมาจากคู่แข่งอย่าง Vodafone ที่ยื่นฟ้องต่อศาลว่าการทำสัญญากับแอปเปิลเพื่อผูกขาดการขายไอโฟนเป็นเวลา 2 ปีของทีโมบายล์เป็นการขัดต่อกฏหมายเยอรมันและยุโรป การปลดล็อกที่เกิดขึ้นช่วยให้ทีโมบายล์พ้นจากข้อกล่าวหาก็จริง แต่ประชาสัมพันธ์ทีโมบายล์ระบุว่า ยังคงต้องรอคำสั่งชี้ขาดจากศาลเมืองฮัมเบิร์กเหนือ ว่าทีโมบายล์มีสิทธิ์จำหน่ายไอโฟนในเยอรมันต่อไปอีกหรือไม่ การทำสัญญาผูกขาดระหว่างแอปเปิลและผู้ให้บริการอย่างโอทู (O2) ในอังกฤษนั้นยังไม่มีคำสั่งศาลใดๆ แต่คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมฝรั่งเศสนั้นมีการออกคำสั่งให้ออเรนจ์ (Orange) คู่สัญญาผูกขาดการจำหน่ายไอโฟนของแอปเปิลรายเดียวในเมืองน้ำหอมจำหน่ายทั้งรุ่นล็อกและไม่ล็อก โดยออเรนจ์มีกำหนดการจำหน่ายไอโฟนวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ รายงานของสื่อเยอรมันระบุว่า ทีโมบายตกลงจ่ายเงินให้แอปเปิลในสัดส่วนมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายไอโฟน เพื่อชดเชยในส่วนรายได้ที่แอปเปิลต้องเสียไปจากการปลดล็อคไอโฟนตามคำสั่งศาล Company Related Links : Apple

05 พฤศจิกายน, 2550

สรุปรายงานการประชุมวันที่ 3 พ.ย. 2550

ได้เก็บเงินเฉลี่ยคนละ 2,000 บาท ในการทำธุรกิจจำลอง และเก็บค่าเสื้อคนละ 200 บาท
ในการทำธุรกิจจำลองจะจัดขึ้นในวันที่ 3 - 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งให้นักศึกษาแต่งกายดังนี้
3 ธันวาคม 2550 ใส่เสื้อรุ่นของคณะ
4 ธันวาคม 2550 ใส่เสื้อเหลืองครองราช
5 ธันวาคม 2550 ใส่ชุดคนเมือง (เสื้อม่อฮ่อม+กางเกงยีนต์)
และขอให้นักศึกษาแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย
และได้เช็คงานที่ได้มอบหมายให้กับหัวหน้างานว่างานได้ดำเนินไปมากน้อยแค่ไหน เช่น การจัดอาคารสถานที่ งานเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ การทำการ์ดใบโพต่าง ๆ และการจัดของรางวัล เช่น รางวัลที่ 1 จะมีคอมพิวเตอร์ PC 1 เครื่อง โทรทัศน์ 21 นิ้ว 2 เครื่อง ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ จะออกรางวัลใหญ่ทุกวัน ถ้ารางวัลใหญ่วันนี้ไม่ออกให้ยกยอดไปอีกวันหนึ่งเลย และการเริ่มงานจะจัดงานตั้งแต่เวลา 08.00 - 20.00 น. ซึ่งถ้างานเรียบร้อยแล้วให้นักศึกษาช่วยกันเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดเต้นส์ของตนเองให้เรียบร้อย และสรุปงานด้านบัญชี ให้สรุปค่าใช้จ่าย รายรับ 3 ช่วงเวลา คือ 13.00, 17.00, และ 20.00 น. และให้นักศึกษาทุกคนอยู่ร่วมงานเพราะจะมีการประเมินการทำงานของนักศึกษาด้วย

IPv6 เปลี่ยนถ่ายเทคโนฯ เก่าสู่เครือ ข่ายอินเทอร์เน็ตยุคใหม่

IPv6 เปลี่ยนถ่ายเทคโนฯ เก่าสู่เครือ ข่ายอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ [5 พ.ย. 50 - 06:19]
เป็นดังที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่า อินเทอร์เน็ต คือ อภิมหาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นเครือข่ายสารพัดประโยชน์จนใครที่ไม่เคยใช้งานอินเทอร์เน็ตอาจจะเป็นบุคคลตกยุคสมัยไปได้ง่ายๆ

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้แต่ละปีการเติบโตของการใช้งานเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้หมายเลขติดต่อบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ ไอพี แอดเดรส ที่เปรียบเสมือนหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันกำลังจะหมดไปในอนาคต ดังนั้น หลายประเทศจึงเริ่มนำเอาเทคโนโลยีการติดต่อบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 6 หรือ IPv6 มาใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีการติดต่อบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตรุ่นที่ 4 หรือ IPv4

อย่างไรก็ตาม หลายคนที่ยังไม่รู้อาจจะสับสนว่า การเปลี่ยนไปใช้ IPv6 นั้น จำเป็นหรือไม่ แท้จริงแล้วผลกระทบเป็นเช่นไร และในประเทศไทยผู้เกี่ยวข้องมีความพร้อมให้บริการมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร ดังนั้น วันนี้…เราจะพากันไปหาคำตอบเหล่านี้ กัน

รศ.ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหา วิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้คำตอบเกี่ยวกับความสำคัญและความจำเป็นในการใช้งาน IPv6 ว่า IPv4 เริ่มเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 รวมระยะเวลามากกว่า 26 ปี มีเลขหมายรองรับ 4.29 พันล้านเลขหมาย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเลขหมาย IPv4 ถูกใช้งานแล้ว 2.5 พันล้านเลขหมาย โดยคาดว่า จะหมดไปประมาณปี ค.ศ. 2010

“มีการแจกจ่าย IPv4 ไปแล้ว 2.5 พันล้านเลขหมาย 1.4 พันล้านเลขหมายอยู่ในอเมริกา 550 ล้านเลขหมายอยู่ในยุโรป 155 ล้านเลขหมายอยู่ในญี่ปุ่น 125 ล้านเลขหมายอยู่ในจีน 20 ล้านเลขหมายอยู่ในอเมริกาใต้และอีก 100 ล้านเลขหมายอยู่ในที่อื่นๆ ทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยมีการใช้งาน 3.47 ล้านเลขหมายจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 13 ล้านราย” อาจารย์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย ม.สงขลานครินทร์ อัพเดทสถานะจำนวนเลขหมาย IPv4 ในปัจจุบัน

รศ.ดร.สินชัย เชื่อว่า จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า IPv4 จะหมดในเร็วๆ นี้ โดยภายในปี ค.ศ.2050 มีข้อมูลว่า จะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 9 พันล้านเลขหมาย ขณะที่ในปี ค.ศ.2006 ที่ผ่านมา มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทั่วโลกแล้ว 2.03 พันล้านเครื่อง และมีแนวโน้มว่า จะมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ

“ปัจจุบันและอนาคตจะมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยแท็ปเลตพีซีและพีดีเอ เป็นต้น ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เช่น 3 จี ไวไฟ และไวร์แม็ก เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะส่งผลให้ IPv4 ที่เหลือจำนวนจำกัดอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ช่วงนี้หลาย ๆ ประเทศจึงเตรียมพร้อมและให้ความรู้การใช้งาน IPv6 ที่มีเลขหมายไว้รองรับมากถึง 340 ล้านล้านล้านล้านเลขหมาย โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีกระทรวงไอซีทีได้นำเทคโนโลยีดังกล่าว มาเผยแพร่ให้กับประชาชน”

สำหรับผลดีของการนำ IPv6 มาใช้ อาจารย์สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเครือข่าย ม.สงขลานครินทร์ ชี้ให้เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เปลี่ยน เพราะว่า ในที่สุดเราจะไม่มีเลขหมาย IPv4 ให้ใช้งาน รวมทั้งยากลำบากในการเชื่อมต่อกับประเทศอื่นและอุตสาหกรรมไอซีทีคงยากลำบาก นอกจากนั้น ยังจะทำให้อุปกรณ์คอนซูมเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือ ซีอี สามารถเพื่อให้สามารถเชื่อต่อและใช้งานร่วมกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยเลขหมาย IPv6

และมาถึงทุกวันนี้ รศ.ดร.สินชัย อัพเดทแผนงานและสถานการณ์การใช้งาน IPv6 ในประเทศอื่นๆ ว่า ปัจจุบันอเมริกาได้ประกาศใช้ IPv6 ตั้งแต่ปี ค.ศ 2005 แม้จะได้รับการจัดสรรเลขหมาย IPv4 มากที่สุด ส่วนประเทศในแถบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ในอันดับต้นๆ นั้น ได้เตรียมให้หน่วยงานราชการใช้งาน IPv6 อย่างเป็นทางการภายในปี ค.ศ.2008 ส่วนเกาหลีจะใช้การเชื่อมต่อซีอี IPv6 ในปี ค.ศ.2010 โดยปี ค.ศ.2008 จะเปิดให้บริการ IPv6 ในเชิงพาณิชย์

ในส่วนของเมืองไทย ดร.อาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีได้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการใช้งาน IPv6 เอาไว้แล้ว โดยได้กำหนดแผนไว้ 3 ระยะ ได้แก่ แผนระยะสั้นระหว่าง แผนระยะกลางและแผนระยะยาวเพื่อให้การดำเนินงานของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกิดความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการไอซีที กระทรวงไอซีที เปิดเผยแผนการใช้งาน IPv6 ในประเทศไทยว่า ระยะสั้นระหว่างปี พ.ศ. 2550-2551 จะจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญ IPv6 ที่มีหน้าที่ออกใบรับรอง IPv6 รวมทั้งจัดฝึกอบรมและออกใบ รับรอง ระยะกลางปี พ.ศ.2550-2552 จัดตั้งเครือข่ายภาครัฐให้เป็นโครงข่ายหลักที่สามารถรองรับการใช้งาน และในระยะยาว ปี พ.ศ.2550-2553 กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ไอเอสพีสามารถให้ IPv6 แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

ทางด้าน ดร.เฉลิมพล ชาญศรีภิญโญ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค และสมาชิกสมาคม IPv6 ประเทศไทย ให้ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันการใช้งานและให้บริการ IPv6 ในประเทศไทยว่า ส่วนใหญ่ยังใช้ในเครือข่ายด้านการศึกษาวิจัยและใช้เฉพาะกลุ่ม สำหรับในส่วนของไอเอสพีนั้น หลายรายได้มีการทดสอบการใช้และให้บริการ แต่ยังไม่มีการเปิดให้บริการจริง

“นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสมาคม IPv6 ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้งานและให้บริการ รวมทั้งมีการจัดทำนโยบายโดยกระทรวงไอซีที ตลอดจนมีการจัดทำแนวทางและมาตรการกำกับการใช้งานโดย กทช. ส่วนสาเหตุของการใช้งานและให้บริการที่ยังไม่แพร่หลายนั้น เป็นเพราะยังไม่มีคอลเลอร์แอพลิเคชัน ขาดแรงจูงใจในการใช้และให้บริการ รวม ทั้งขาดการผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจัง” นักวิจัยจากเนคเทค ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

จากความเห็นของนักวิชาการข้างต้น คงพอจะทำให้สรุปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศในโลกคงจะต้องเปลี่ยนไปใช้ IPv6 เพื่อทดแทน IPv4 ที่กำลังจะหมดไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่างอาจจะมีปัญหาติดขัดในตอนเริ่มต้นบ้างเป็นธรรม ดังนั้น การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สามารถก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและก้าวทันกับยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในโลกปัจจุบัน…